ตามติดนักเรียนใหม่ร.ร. Intercult ภาคเรียนเมษายน 2013 (ตอนที่ 1)

นักเรียนที่มาเรียนภาษาญี่ปุ่นหลักสูตรระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่น  ภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ เดือนเมษายน 2013  ได้เริ่มต้นชีวิตนักเรียนในญี่ปุ่นกันแล้วนะคะ    เมื่อมาถึงญี่ปุ่น กว่าจะเริ่มเข้าเรียนจริง ก็ต้องทำอะไรมากมายค่ะ   เรามาตามติดชีวิตนักเรียนไทย ซึ่งเป็นนักเรียนเข้าใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ของโรงเรียน  Intercultural Institute of Japan ที่ Akihabara จังหวัดโตเกียวกันนะคะ   ภาคเรียนนี้มีนักเรียนไทยที่เข้าเรียนหลักสูตรระยะยาว 4 คน และหลักสูตรระยะสั้นต่อระยะยาวอีก 1 คนค่ะ

เริ่มต้นเช้าวันแรกด้วยการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ค่ะ    หอพักของโรงเรียนทั้งสองหอก็อยู่ใกล้โรงเรียนแค่เดิน 1 นาที กับ 10 นาทีค่ะ   ฉะนั้นเดินมาโรงเรียนกันได้แบบชิว ๆ  ค่ะ


การปฐมนิเทศนักเรียนใหม่  นอกจากเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนแล้ว  ก็ยังจะมีรุ่นพี่นักเรียนของโรงเรียนมาช่วยเป็นล่ามแปลภาษาต่าง ๆ ด้วยค่ะ   ซึ่งในครั้งนี้เราก็ได้แก้ม  ซึ่งเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วมาช่วยเป็นล่ามแปลให้รุ่นน้องค่ะ  ต้องขอบคุณน้องแก้มด้วยนะค๊า….

 

 

ในเบื้องต้น Numata เซนเซ  ได้อธิบายเกี่ยวกับการเรียน เช่น
–  ระดับชั้นเรียน  ซึ่งจะเริ่มต้นที่ระดับ J1 ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง J11
–  เนื้อหาการเรียน จะแบ่งเป็น
ภาษาญี่ปุ่นทั่วไป ซึ่งครอบคลุมทุกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน  รวมไปถึงไวยากรณ์
วิชาเลือก ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจได้  โดยนักเรียนที่สามารถเข้าเรียนในวิชาเลือกได้นั้น จะต้องเรียนระดับ 3 ขึ้นไปแล้วเท่านั้นค่ะ  และนักเรียนที่เรียนในระดับสูงขึ้น  จะมีชั่วโมงที่สามารถเลือกวิชาเลือกได้มากขึ้นค่ะ
คันจิ  สำหรับชั้นเรียนคันจินั้น  ที่ร.ร. Intercult  จะแบ่งชั้นเรียนระหว่างนักเรียนที่มาจากประเทศที่ใช้คันจิ กับประเทศที่ไม่ได้ใช้คันจิค่ะ   ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้คันจิได้แบบไม่กดดันค่ะ

 

ในการแบ่งระดับชั้นเรียนนั้น  จะมีการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนและจัดให้เข้าชั้นเรียนที่เหมาะสมกับระดับความรู้ของแต่ละคนค่ะ   โดยจะมีทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์   ซึ่งสิ่งสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาแบ่งชั้นเรียนของทางร.ร.คือ  ความสามารถในการใช้(使える)มากกว่า ความเข้าใจ (わかる)ค่ะ  ( ดูภาพด้านล่างประกอบ )

 

นักเรียนส่วนใหญ่ที่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นมาจากประเทศของตนเองแล้ว   แม้จะมีระดับความเข้าใจสูง เช่นมีความเข้าใจถึงระดับ 5-6  แต่ระดับความสามารถในการนำภาษาญี่ปุ่นมาใช้ในการสื่อสารได้แค่ระดับ 2-3   จะเริ่มต้นจากการเรียนในระดับ 2-3 ก่อนค่ะ  แต่เมื่อเรียนไปแล้ว  เริ่มมีความคุ้นเคยและสามารถนำภาษาญี่ปุ่นมาใช้งานได้เพิ่มมากขึ้นจนเทียบเท่ากับความเข้าใจที่มีอยู่  ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนระดับขึ้นไปได้เร็วขึ้นค่ะ

 

Numata เซนเซ  ยังเสริมอีกว่า ในกรณีที่นักเรียนคิดว่าตัวเองได้อยู่ชั้นต่ำเกินไป   การที่เดินมาบอกกับอาจารย์ว่าจะขอย้ายชั้นเรียนนั้น  ไม่สามารถทำได้ค่ะ   ฉะนั้น  สิ่งที่นักเรียนต้องทำคือ  เข้าเรียนในชั้นที่ทางร.ร.จัดให้ตามผลสอบวัดระดับที่ตัวเองทำได้    แต่ในห้องเรียน  นักเรียนจะต้องพิสูจน์ให้อาจารย์ผู้สอนเห็นว่า ตัวเองสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้มากกว่าระดับที่เรียนอยู่  ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามหรือบทสนทนาได้อย่างถูกต้อง  ทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างถูกต้อง  เพื่อที่อาจารย์ผู้สอนจะได้พิจารณาว่านักเรียนควรจะเรียนอยู่ในระดับไหนจึงจะเหมาะกับความสามารถที่แท้จริง

 

นอกเหนือจากการปฐมนิเทศเรื่องการเรียนแล้ว   ก็เป็นการให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นค่ะ
หลังจากการปฐมนิเทศเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ก็เป็นการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นค่ะ   ตอนนี้ก็ให้น้อง ๆ ไปทำข้อสอบกันก่อนนะคะ

 

ในช่วงบ่าย  จะเป็นการไปลงทะเบียนถิ่นที่อยู่กับทางสำนักงานเขต  Taito-ku  (台東区 ) ค่ะ    เลยต้องมานั่งกรอกเอกสารเตรียมไปยื่นที่เขตกันค่ะ   แน่นอนว่าต้องกรอกเป็นภาษาญี่ปุ่นนะคะ  ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเขียนชื่อตัวเองเป็นตัวอักษร Katakana ให้ได้  และเขียนคันจิที่อยู่ตัวเองให้ได้กันล่ะค่ะ

แต่ก่อนจะไปที่สำนักงานเขต  ขอพักทานข้าวแบบเร่งด่วนก่อนนะคะ   ที่ใกล้ ๆ โรงเรียนมีร้านขายข้าวกล่อง (お弁当 : obento ) ราคาย่อมเยาว์เหมาะกับกระเป๋าสตางค์นักเรียนค่ะ   มีอาหารหลายอย่างให้เลือก และมีปริมาณที่มากพอแบบทานได้อิ่มท้อง   กล่องละ 267 เยน บวกภาษี 5% รวมเป็น 280 เยนค่ะ   ซื้อมานั่งทานที่ชั้น 1 ของโรงเรียน จะมีที่สำหรับนั่งพักทานข้าวได้ค่ะ   いただきます~

 

ท้องอิ่มแล้ว…. เดินไปที่สำนักงานเขต Taito ku (台東区)กันค่ะ
ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2555  เมื่อนักเรียนเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นที่ท่าอากาศยานนาริตะ ฮาเนดะ คันไซ และชูบุ จะได้รับบัตรไซริวการ์ด ( 在留カード : ざいりゅうカード ) หรือ Residence card ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองค่ะ    และภายใน 14 วัน ก็จะต้องมาแจ้งที่อยู่กับทางสำนักงานเขตที่ตัวเองพักอาศัยอยู่ค่ะ   ทางเขตก็จะทำการบันทึกข้อมูล  และบันทึกที่อยู่ปัจจุบันของนักเรียนไว้ที่หลังบัตรไซริวการ์ดค่ะ   บัตรนี้จะใช้เป็นบัตรแสดงตนของนักเรียนในขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น  เหมือนเป็นบัตรประชาชนบ้านเราน่ะค่ะ  ซึ่งก็จะต้องพกใบนี้แทนพาสปอร์ตล่ะนะคะ

หลังจากเสร็จสิ้นการรายงานที่อยู่แล้ว   ก็ขึ้นไปทำบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติกันต่อที่สำนักงานเขตนี่ล่ะค่ะ
บัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ  (  国民健康保険  : こくみんけんこうほけん)เป็นระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่นซึ่งทุกคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมากกว่า 90 วันจะต้องทำค่ะ   โดยจะต้องเสียเบี้ยประกันทุก ๆ เดือน   ค่าเบี้ยประกันจะแล้วแต่เขตที่อยู่   และหากเจ็บป่วย ไม่สบาย  เวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจะชำระเงินเพียง 30 เปอร์เซ็นต์  อีก 70 เปอร์เซ็นต์รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่ะ ฉะนั้น เวลาไปหาหมอที่คลินิคหรือโรงพยาบาลจะต้องพกบัตรประกันสุขภาพไปด้วยทุกครั้งนะคะ

 

บัตรประกันสุขภาพจะส่งมาให้ทางไปรษณีย์ ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ค่ะ    เสร็จขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับวันนี้แล้ว   วันอื่น ๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำค่ะ  แต่ขอจบตอนนี้ก่อน  แล้วค่อยมาตามติดชีวิตนักเรียนใหม่ของโรงเรียน  Intercultural Institute of Japan กันต่อนะคะ

อ่านต่อ >>  ตามติดนักเรียนใหม่ ร.ร. Intercult ภาคเรียนเมษายน 2013 ตอนที่  2
เรื่องพิธีเปิดภาคเรียนและการทำงานพิเศษ  คลิกที่นี่ 

 

Link ที่เกี่ยวข้อง : โรงเรียน  Intercultural Institute of Japan 

Tags: , , ,